SHARE

ในโรงพิมพ์มีกระดาษอะไรให้เลือกบ้าง?

เวลาจะพิมพ์งานแต่ละที ขั้นตอนที่ทำให้เราปวดหัวและใช้เวลามากที่สุดอีกขั้นตอนหนึ่งก็คือ การเลือกกระดาษ เพราะในโลกนี้มีกระดาษให้เลือกใช้มากมายหลายแบบ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าควรเลือกใช้กระดาษแบบไหนจึงจะเหมาะสมกับงานของตนเอง

เพื่อให้ทุกคนเข้าใจง่าย และเลือกใช้กระดาษได้ดีขึ้น โรงพิมพ์ของเราได้มีการแบ่งกระดาษที่ใช้ในงานพิมพ์ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กระดาษพื้นฐาน, กระดาษพิเศษ และกระดาษที่เพิ่มคุณสมบัติพิเศษ

1. กระดาษพื้นฐาน

กระดาษพื้นฐานของเรา หมายถึง กระดาษทั่วไปที่มีขนาด และความหนาตามมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไปในการพิมพ์

กระดาษพื้นฐานยังสามารถแบ่งย่อยได้เป็น

1.1 กระดาษเคลือบผิว (Coated Paper)

มีทั้งกระดาษที่ผิวมีความมันแวววาวจากการเคลือบมัน และผิวด้าน ที่ให้ความรู้สึกเหมือนไม่ได้เคลือบอะไร เป็นการเคลือบผิวในกระบวนการผลิตกระดาษตั้งแต่ต้น เพื่อให้ผิวกระดาษมีความเนียนเรียบมากขึ้น และทำให้งานที่พิมพ์ลงบนกระดาษสวยงามมากขึ้น สีที่สดกว่า เพราะหมึกพิมพ์ไม่ถูกดูดลงไปซึมอยู่ในเนื้อกระดาษหมด จนสีจม  โดยมีทั้งกระดาษที่เคลือบผิวทั้ง 2 หน้า และเคลือบหน้าเดียว ได้แก่

1.1.1 กระดาษอาร์ต

Paper Type 14

ตัวอย่างกระดาษอาร์ตมัน

Paper Type 03

ตัวอย่างกระดาษอาร์ตด้าน
  • กระดาษอาร์ตมัน ที่ผิวทั้ง 2 มีความมันวาว สะท้อนแสง
  • กระดาษอาร์ตด้าน ที่ผิวทั้ง 2 ด้านไม่สะท้อนแสง มองดูแล้วเหมือนไม่ได้เคลือบ แต่ถ้าลองสัมผัสแล้ว จะรู้สึกถึงความเรียบเนียนมากกว่ากระดาษที่ไม่เคลือบผิวมีความหนาตั้งแต่ 70 – 180 แกรม
1.1.2 กระดาษอาร์ตการ์ด

Paper type 01

ตัวอย่างกระดาษอาร์ตการ์ด ที่มีความหนาขึ้นมาจากกระดาษอาร์ตทั่วไป

กระดาษชนิดนี้ จริงๆ แล้วก็คือ กระดาษอาร์ตที่มีความหนามากขึ้นนั่นเอง คือมีความหนาตั้งแต่ 200 – 400 แกรม และเคลือบผิวแบบมัน โดยมีการเคลือบผิวมัน 2 แบบ ได้แก่

  • กระดาษอาร์ตการ์ดหน้าเดียว ที่ผิวมันวาว สะท้อนแสงเพียงหน้าเดียว ซึ่งนิยมนำไปใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่อง เพราะมีความแกร่ง ความแข็งเป็นทรงมากกว่าอาร์ตการ์ดที่มันทั้ง 2 หน้า
  • กระดาษอาร์ตการ์ดสองหน้า ที่ผิวมันวาว สะท้อนแสงทั้ง 2 หน้า นิยมนำไปใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์ประเภทถุง เพราะกระดาษมีความอ่อนนุ่มลงมา ให้ความรู้สึกนุ่มนวลมากกว่า หรือใช้กับงานพิมพ์ที่ต้องโชว์ทั้งสองหน้ากระดาษ เช่น งานแฟ้ม, การ์ดเชิญ เป็นต้น
1.1.3 กระดาษกล่องแป้ง

ตัวอย่างกระดาษกล่องแป้ง

เป็นกระดาษที่ผิวด้านหนึ่งประกบด้วยชั้นกระดาษขาว ในขณะที่ผิวอีกด้านมักมีสีคล้ำกว่า ความหนาประมาณ 200 – 400 แกรม แบ่งเป็น

  • กระดาษกล่องแป้งหลังเทา ที่ด้านหลังเป็นสีเทา เพราะทำมาจากเยื่อกระดาษหนังสือพิมพ์
  • กระดาษกล่องแป้งหลังน้ำตาล ที่ด้านหลังเป็นสีน้ำตาล เพราะทำมาจากเยื่อกระดาษลัง
  • กระดาษกล่องแป้งหลังขาว ที่ด้านหลังก็เป็นสีขาว แต่ไม่เรียบเนียนเท่าประเภทอาร์ต

1.2 กระดาษไม่เคลือบผิว (Uncoated Paper)

ผิวของกระดาษกลุ่มนี้ไม่เนียนเท่ากับกระดาษเคลือบผิว เวลาสัมผัสแล้วจะรู้สึกถึงผิวสัมผัสที่มีความเป็นเยื่อๆ ของกระดาษอยู่ ได้แก่

1.2.1 กระดาษปรู๊ฟ

Paper Type 04

ตัวอย่างกระดาษปรู๊ฟในงานหนังสือพิมพ์

เป็นกระดาษบางๆ มีสีอมเหลือง ผิวสัมผัสค่อนข้างหยาบ มีความหนา 40 – 55 แกรม นิยมนำมาใช้ทำหนังสือพิมพ์นั่นเอง

1.2.2 กระดาษปอนด์

Paper Type 05

ตัวอย่างกระดาษปอนด์ ซึ่งเป็นกระดาษที่เราใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด

แน่นอนว่าทุกคนต้องเคยใช้กระดาษปอนด์ เพราะกระดาษที่เราใช้ในการจดงาน พิมพ์งาน ถ่ายเอกสารต่างๆ คือกระดาษปอนด์นั่นเอง เป็นกระดาษที่มีสีขาว มีทั้งที่ผิวเรียบและผิวหยาบ มีความหนาตั้งแต่ 55 – 120 แกรม

1.2.3 กระดาษการ์ดขาว

คือ กระดาษปอนด์ที่มีความหนามากขึ้น โดยมีความหนาตั้งแต่ 150 แกรมขึ้นไป

1.2.4 กระดาษถนอมสายตา (Green Read Paper)

Paper Type 06

ตัวอย่างกระดาษถนอมสายตา หรือที่เรียกอีกชื่อว่า Green Read

มีสีครีม มีความหนาประมาณ 60 – 70 แกรม มักใช้ในงานหนังสือเป็นหลัก เนื่องจากเนื้อและสีกระดาษเป็นมิตรต่อสายตาคนทั่วไป

1.2.5 กระดาษคราฟท์น้ำตาล

Paper Type07

ตัวอย่างกระดาษคราฟท์น้ำตาล

มีสีออกโทนเหลือง – น้ำตาล ตามสีของเยื่อไม้ที่นำมาทำกระดาษ มีความแข็งแรง และเหนียวกว่ากระดาษชนิดอื่น มีความหนาตั้งแต่ 150 – 400 แกรม

1.2.6 กระดาษคราฟท์ขาว

Paper Type 08

ตัวอย่างกระดาษคราฟท์ขาว

มีลักษณะคล้ายกับกระดาษการ์ดขาว ที่ไม่แกร่งเท่าการ์ดขาว แต่จะเหนียว และให้ความรู้สึกว่านุ่มกว่าเมื่อสัมผัส เป็นกระดาษที่ใช้เยื่อไม้เดียวกันกับที่นำมาทำกระดาษคราฟท์น้ำตาล แต่นำไปฟอกให้เป็นสีขาว มีความหนาตั้งแต่ 120 – 210 แกรม นิยมนำไปใช้ทำถุงกระดาษ

1.2.7 กระดาษแข็ง หรือ กระดาษจั่วปัง

Paper Type 09

ตัวอย่างกระดาษจั่วปัง

เป็นกระดาษที่ผิวหยาบมากที่สุดในบรรดากระดาษทั้งหมด สีคล้ำออกเทา หนามากเพราะเกิดจากการซ้อนกันของ กระดาษหลายชั้น  ไม่นิยมนำมาใช้ในการพิมพ์งาน แต่ใช้ในการประกบหรือสอดไส้งานให้แข็งแรง

ถ้าเลือกกระดาษไม่เคลือบผิวไปพิมพ์งาน แล้วไปเคลือบผิวหลังพิมพ์งานแทนได้ไหม จริงๆ แล้วก็สามารถทำได้ แต่ส่วนใหญ่เราพบว่าไม่นิยมนำกระดาษกลุ่มนี้ไปเคลือบผิวหลังการพิมพ์ต่อ เพราะจะทำให้เสียความรู้สึกของการเป็นกระดาษนั้นๆ ไป

2. กระดาษพิเศษ

Paper Type 10

ตัวอย่างกระดาษชนิดพิเศษที่มีผิวสัมผัสสวยงาม และ แตกต่างจากกระดาษทั่วๆไป

กระดาษพิเศษ คือ กระดาษที่มีความสวยงามพิเศษ ตั้งแต่การเลือกเยื่อไม้ที่สวยมาใช้ในการผลิตกระดาษ ไปจนถึงการเพิ่มสีสัน ผิวสัมผัสแบบต่างๆ ทำให้เนื้อกระดาษมีความสวยและให้สัมผัสที่ดีเป็นพิเศษ จึงนิยมนำมาใช้ในงานที่เน้นการโชว์ผิวกระดาษ ไปจนถึงงานนามบัตร และการ์ดเชิญต่างๆ

3. กระดาษที่มีคุณสมบัติพิเศษ

Paper Type 11

ตัวอย่างกระดาษที่มีคุณสมบัติพิเศษสามารถพบเจอได้ในกระดาษที่ใช้กับงานบรรจุภัณฑ์อาหารและยา

กระดาษที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ กระดาษที่มีการทำให้เกิดคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้งาน และเพิ่มคุณค่าให้กับกระดาษนั้นๆ แบ่งเป็น

3.1 กระดาษที่ต้องสัมผัสอาหาร (Food Grade Paper)

เป็นกระดาษที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยมาจาก FDA  (Food and Drug Administration / องค์กรอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา) ว่าสามารถใช้ในงานที่ต้องสัมผัสอาหารโดยตรงได้ เพราะผลิตจากเยื่อกระดาษใหม่ ไม่มีสารฟอกขาวและสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  มีให้เลือกหลายประเภท แบ่งย่อยได้เป็น

3.1.1 กระดาษ MG (Machine Glazed)

paper type 12

ตัวอย่างกระดาษ MG สีขาว

คือกระดาษคราฟท์ขาวหรือน้ำตาล ที่มีผิวมันหน้าเดียว บาง โดยมีความหนาตั้งแต่ 20 – 50 แกรม สามารถเข้าไมโครเวฟได้ นิยมนำไปใช้ในการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ห่ออาหาร เช่น กระดาษห่อแฮมเบอร์เกอร์, กระดาษห่อหมากฝรั่ง, กระดาษห่อขนมปัง, ถุงใส่ขนม เป็นต้น

3.1.2 กระดาษอาร์ตการ์ดหน้าเดียว (Non-OBA)

คล้ายกับกระดาษอาร์ตการ์ดทั่วไป แต่ปราศจากสารเรืองแสงในกระบวนการผลิต มีความหนาตั้งแต่ 270 – 400 แกรม นิยมนำไปใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์อาหารและยาทั่วไป

3.1.3 กระดาษอาร์ตการ์ดเคลือบผิวด้วย PE

คือกระดาษอาร์ตการ์ด Food Grade ที่นำมาเคลือบผิวด้วย PE เพื่อให้ทนต่อความชื้น กันน้ำและน้ำมันซึมได้ มีความหนาตั้งแต่ 270 – 400 แกรม นิยมนำไปใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์อาหารและยาทั่วไป

3.1.4 กระดาษอาร์ตการ์ดหน้าขาวหลังน้ำตาล (Frozen)

เป็นกระดาษที่มีความเหนียว ความแข็งแกร่ง และทนต่อความชื้นได้เป็นอย่างดี สามารถพิมพ์งานได้ทั้ง 2 ด้าน มีความหนาตั้งแต่ 290 – 390 แกรม นิยมนำไปใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์แช่แข็ง

3.1.5 กระดาษคราฟท์น้ำตาลเคลือบผิวด้วย PE

คือกระดาษคราฟท์ที่ปราศจากสารเรืองแสงในกระบวนการผลิต และเคลือบ PE เพื่อให้ทนต่อความชื้น กันน้ำและน้ำมันซึมได้ มีความหนาตั้งแต่ 270 – 400 แกรม นิยมนำไปใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์อาหาร

(แตกต่างจากกระดาษอาร์ตการ์ดตรงที่กระดาษคราฟท์จะมีความเหนียวกว่า)

3.2 กระดาษที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC™ 

Paper Type 13

ตัวอย่างกระดาษที่ประทับตรา FSC

มาตรฐาน FSC™ (Forest Stewardship Council) คือ มาตรฐานที่รับรองว่ากระดาษที่เราเลือกมาใช้นั้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือเลือกใช้ต้นไม้ที่นำมาใช้ทำเยื่อกระดาษจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ ที่สามารถระบุและตรวจสอบแหล่งที่มาของไม้ได้

นอกจากจะเป็นการเลือกใช้กระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับงานที่ใช้กระดาษในกลุ่มนี้ได้จากการติดฉลากมาตรฐาน FSC™ อีกด้วย

ทีนี้ หากคุณมีงานที่ต้องการพิมพ์ คุณก็ไม่ต้องเสียเวลาและปวดหัวกับการเลือกกระดาษมากมายหลายชนิดแล้ว เพียงแค่ตัดกระดาษกลุ่มที่คุณสมบัติไม่เข้าตาคุณออกไป แล้วบอกเราว่าอยากเลือกดูตัวอย่างกระดาษจากกลุ่มไหน แค่นี้ก็ช่วยให้เจอกระดาษที่ถูกใจได้เร็วขึ้น แถมประหยัดเวลาได้มากขึ้นไปอีกด้วย

ส่วนถ้าอยากรู้ว่าจะเลือกใช้กระดาษอะไร กับงานประเภทไหนดี เพื่อนๆก็สามารถไปติดตามต่อได้ที่บทความ “วิธีเลือกกระดาษในงานพิมพ์ ต้องคิดถึงอะไรบ้าง?” กันเลย

     
                 
     
logo