พลังของ Less is More แนวคิดที่อยู่เหนือกาลเวลา
หากเรามองผ่านกาลเวลา ผลงานออกแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ชุดแฟชั่นบนรันเวย์ หรือ ตึกรามบ้านช่อง ล้วนแล้วแต่มีช่วงยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จากเสื้อสูทปกใหญ่ ไหล่ตั้ง เน้นความภูมิฐาน และ งานสถาปัตยกรรมยุคโพสต์โมเดิร์นเน้นรูปทรงเรขาคณิต เปลี่ยนถ่ายสู่ สูทปกเล็ก ไหล่ลาด เน้นสัดส่วนพอดีตัว ตามด้วย อาคารหน้าตาล้ำยุคเน้นการโชว์ศักยภาพเทคโนโลยีที่ท้าทายด้านวิศวกรรม คู่กับการโชว์โครงสร้างอันซับซ้อน ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่งตามยุคสมัยที่นักออกแบบในทุกแวดวงต่างก็ต้องปรับตัวเข้าหาเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป…แต่ไม่ว่าสายน้ำแห่งการเปลี่ยนแปลงจะไหลเชี่ยวกราดเพียงใด นิยามสุดคลาสสิคที่ว่า Less is More ก็ยังถูกหยิบยกมาใช้เสมอๆเมื่อเราเริ่มพูดกันถึงการออกแบบทุกสรรพสิ่ง
ดังนั้นบทความนี้เราจึงอยากมาเจาะลึกเป็นข้อๆ ให้เพื่อนๆได้เข้าใจมากขึ้นถึง หลักแนวคิดนี้ที่ถูกเอ่ยออกมาจากปากของยอดสถาปนิกที่ชื่อ ลุดวิค มิส ฟานเดอโรห์ (Ludwig Mies van der Rohe) บิดาแห่งความเรียบง่าย (Minimalism) ผู้ที่หลายคนยกให้เขาเป็นดีไซเนอร์ต้นแบบ เพราะคำพูดของเขามันอยู่เหนือกาลเวลาอย่างแท้จริง
ลุดวิค มิส ฟานเดอโรห์ สถาปนิกและบิดาแห่ง Minimalism
Barcelona Pavillion ผลงานชิ้นเอกของ มิส ฟานเดอโรห์
กลั่นตะกอนทางความคิดด้วยความเรียบง่าย:
ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้ามากมายอย่างทุกวันนี้ ความเรียบง่ายกลายเป็นสิ่งทรงพลังที่โดดเด่น…Less is more คือคำที่กระตุ้นช่วยให้นักออกแบบหลายๆคน กลั่นตะกอนความคิดของตนให้ตกผลึกจนเหลือแต่สิ่งที่จำเป็น ซึ่งส่งผลให้งานภายใต้คอนเซปนี้ มีความสมดุลกันทั้งในเรื่องของรูปแบบและฟังก์ชั่นการใช้งาน (Form follows Function) และลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจนหมดสิ้น ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกันกับ บัญญัติ 10 ประการในงานออกแบบของ Dieter Rams
ตัวอย่างงานออกแบบกล่องผลิตภัณฑ์ที่มีความสมดุลทั้งในแง่รูปแบบและการใช้งาน
ความเรียบง่ายคือมิตรที่ดีที่สุด:
การออกแบบที่ดีบางครั้งไม่ได้เกี่ยวกับความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่มันยังเกี่ยวกับการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่มีความหมาย ซึ่งคุณค่าของ “less is more” อยู่ที่ความสามารถในการผสานความสวยงามและประโยชน์ใช้สอยได้อย่างลงตัว ยกตัวอย่างเช่น หน้าจอมือถือ หรือ หน้าจอคอมพิวเตอร์ ที่ออกแบบมาอย่างเรียบง่ายนั้น มันไม่เพียงแต่ดึงดูดสายตา แต่มันยังใช้งานง่ายอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งสอดคล้องกับที่ครั้งหนึ่ง Steve Jobs เคยบอกไว้ว่า แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็สามารถใช้ iPhone หรือ iPad ของ Apple ได้ เพราะอินเตอร์เฟซของ iOS ถูกออกแบบมาอย่างเรียบง่ายเป็นมิตรกับทุกคน
ตัวอย่างกล่องที่ฝาเปิดเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ทั้งการพับเก็บรักษา หรือ การนำมาประกอบใช้งาน
ศิลปะแห่งการไม่ออกแบบ:
ในการแสวงหาความคิดสร้างสรรค์นั้น บางครั้งการปล่อยให้เกิดพื้นที่ว่างอย่างจงใจแบบ Negative Space หรือ การไม่ออกแบบใดๆ ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Less is More ได้ เพราะองค์ประกอบที่ว่างนั้นก็มีน้ำหนักความสำคัญพอๆ กับตัวองค์ประกอบเอง ไม่ต่างกัน และเมื่อทั้ง Positive และ Negative Space ประสานกันอย่างพอดิบพอดี เมื่อนั้นผลลัพธ์ที่ได้ก็จะกลายเป็นงานออกแบบที่ลงตัวและสมบูรณ์แบบ
ตัวอย่างงานบัตรเชิญและนามบัตรที่ใช้เทคนิคปั๊มนูนโชว์กราฟฟิค แล้วเว้นที่ว่างของกระดาษให้ช่วยเน้นตัวโลโก้เป็นที่จดจำได้
เร้าความคิดผ่านองค์ประกอบ:
การออกแบบแท้จริงแล้วไม่ใช่แค่การถ่ายทอดข้อมูลเท่านั้น แต่มันยังเกี่ยวข้องกับการปล่อยให้จินตนาการทำหน้าที่ต่อยอดจากสิ่งที่ตาเห็น ดังนั้นจากหลักการออกแบบ Less is More องค์ประกอบต่างๆล้วนแล้วแต่ช่วยเร้าความคิดและจินตนาการได้ดีกว่างานออกแบบที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่เยอะจนเกินไป
ตัวอย่างงานซองและช่องใส่การ์ดที่ลดทอนสิ่งไม่จำเป็น เหลือเพียงแค่องค์ประกอบที่จำเป็นซึ่งช่วยสร้างความน่าสนใจในรูปแบบ
หลักการที่เหนือกาลเวลา:
เทรนด์ต่างๆจากที่กล่าวไปข้างต้นอาจมีขึ้นและลง แต่หลักการ Less is More จะยังคงอยู่ตลอดไปเฉกเช่นที่เคยเป็นมา เพราะมันมีพื้นฐานมาจากแง่มุมพื้นฐานของการรับรู้ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ มันสะท้อนความสง่างามและความเรียบง่ายของธรรมชาติ รวมไปจนถึงความปรารถนาขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในเรื่องความชัดเจนและความเป็นระเบียบ
ตัวอย่างงานกล่อง Packaging กระดาษที่เรียบง่ายเข้ากับลักษณะการใช้งาน สะท้อนถึงหลักเกณ์การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
นวัตกรรมที่ไม่จำเป็นต้องซับซ้อน:
เมื่อพูดถึงนวัตกรรมหลายคนอาจจะคิดไปไกลถึง ความซับซ้อนของกลไล เครื่องยนต์ หรือระบบโครงสร้างที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบมากมาย แต่แท้จริงแล้วความก้าวหน้าที่ปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เกิดจากการออกแบบที่เรียบง่ายและไม่ซับซ้อน ดังเช่นที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายอย่าง Apple, Tesla หรือแม้แต่ Google ทำให้เห็นมาแล้ว
ภาพแสดงชิ้นส่วนภายใน iPad ที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ถือเป็น 1 ในอุปกรณ์ชิ้นเอกที่เปลี่ยนโลก
บทสรุป:
การทำงานของนักออกแบบทุกแขนงนั้น มีความคล้ายกับงานของช่างประติมากร เพราะมันเป็นการสกัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก เพื่อเผยให้เห็นผลงานชิ้นเอกที่ซ่อนอยู่ภายใน เพราะไม่ว่าจะย้อนเข็มเวลากลับไปเป็นศตวรรษ งานออกแบบที่สมบูรณ์แบบอยู่เหนือกาลเวลานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากหลักคิด Less is More แทบทั้งนั้น เพราะนี่ไม่ใช่แค่คำพูดที่มีเอาไว้ใช้เท่ๆแค่ในงานออกแบบ แต่มันยังถือเป็นปรัชญาซึ่งแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านอีกด้วย
RPP Team