SHARE

Printing 101: ข้อควรระวังกับงานพิมพ์ที่ดีไซน์มีขอบหรือกรอบบังคับ

ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ เราจะมีเทคโนโลยีรวมถึงเครื่องจักรที่แทบจะรองรับความต้องการของงานได้ทุกรูปแบบ แต่เพื่อนๆรู้กันมั้ยว่า ในความสามารถของเครื่องไม้เครื่องมือที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ เราก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ควรต้องระวังไว้เสมอ เพราะงานออกแบบ artwork ต่างๆ ที่สวยงามในหน้าจอนั้น อาจจะพบกับปัญหาที่คาดไม่ถึงได้ โดยวันนี้หัวข้อที่ทาง Royalpress จะมาแนะนำเรื่องเล็กๆที่กลายเป็นปัญหาในงานพิมพ์ได้อย่างไม่น่าเชื่อกัน กับเรื่องงานพิมพ์ที่ดีไซน์มีขอบหรือกรอบบังคับ

 

ทำความเข้าใจกับงานพิมพ์ที่ดีไซน์มีขอบหรือกรอบบังคับ
เมื่อการออกแบบ Artwork มีขอบหรือกรอบบังคับ มักมีโอกาสสูงที่จะเกิดความผิดพลาดในการเลื่อนของชิ้นงานระหว่างกระบวนการพิมพ์ เพราะด้วยข้อจำกัดต่างๆ จะทำให้เครื่องพิมพ์ไม่สามารถจัดแนวการออกแบบให้ตรงกับขอบได้อย่างแม่นยำ ซึ่งการมีช่องว่างหรือเส้นที่ใกล้กับกรอบของ Artwork จะยิ่งสังเกตเห็นได้ง่ายเมื่อเพ่งดูอย่างละเอียด และการคลาดเคลื่อนนี้อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย

 

ตัวอย่างงานออกแบบที่มีกรอบบังคับส่งผลให้หากการพิมพ์คลาดเคลื่อนจะสังเกตเห็นได้ง่าย

 

1.ค่าความคลาดเคลื่อนของเครื่องพิมพ์ Offset: เครื่องพิมพ์ Offset แต่ละเครื่องมีระดับความคลาดเคลื่อนของตัวเอง ซึ่งการจะกำหนดความแม่นยำในการจัดตำแหน่งและทำซ้ำอาร์ตเวิร์ค (ในกรณีที่มีการออกแบบมีขอบหรือกรอบบังคับ) มักจะเกิดข้อผิดพลาดได้ง่ายเพราะข้อจำกัดของเครื่องพิมพ์ แต่โดยส่วนมากแล้วการพิมพ์ในระบบ Offset มักจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำดีกว่าระบบอื่นๆ ถ้าหากช่างพิมพ์มีความเข้าใจในรูปแบบชิ้นงานมากพอ

 

2.การเคลื่อนตัวของกระดาษ: ในระหว่างกระบวนการพิมพ์ กระดาษอาจจะสามารถขยาย, หด หรือเลื่อนได้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความชื้น, อุณหภูมิ หรือการจัดการที่ไม่เหมาะสม การเคลื่อนไหวเหล่านี้อาจทำให้กรอบของชิ้นงานคลาดเคลื่อนได้ และยิ่งถ้าหากกระดาษมีความหนาค่อนข้างมาก โอกาสที่จะเกิดการเคลื่อนตัวในระหว่างการพิมพ์ก็จะยิ่งสูงตามโดยเฉพาะกับการพิมพ์ในระบบ Digital

 

3.ข้อจำกัดของเครื่องพิมพ์ Digital: ในระบบการพิมพ์แบบ Digital นั้น เนื่องจากข้อจำกัดการทำงานของเครื่องโดยทั่วไปนั้น มักทำให้ชิ้นงานที่ได้มีการยืดหรือหดตัวมากกว่าการพิมพ์ในระบบ Offset ดังนั้นเราควรต้องพิจารณาข้อจำกัดนี้ควบคู่ไปกับการออกแบบชิ้นงานด้วย

 

4.ข้อจำกัดของงานหลังพิมพ์: บางครั้งการส่งต่องานที่พิมพ์เสร็จแล้ว ไปสู่ขั้นตอนงานหลังพิมพ์ เช่นกระบวนการปั๊มฟอยล์ หรือ ปั๊มนูน ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาการเหลื่อมของชิ้นงานได้เช่นกัน โดยเฉพาะในงานพิมพ์แบบ Digital เนื่องจากฉากของงานที่ใช้ในการพิมพ์ Digital จากเครื่องนั้น แตกต่างจากฉากของงานที่ใช้ในระบบ Offset

 

ตัวอย่างงานที่พิมพ์ในระบบดิจิตอลแล้วนำไปปั๊มฟอยล์ทองที่เกิดการเหลื่อมของชิ้นงาน เพราะใช้ฉากคนละระบบกัน

 

วิธีแก้ไขและป้องกัน

1.หลีกเลี่ยงการดีไซน์ที่มีขอบหรือกรอบบังคับ: หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการออกแบบที่จะทำให้ชิ้นงานพิมพ์มีขอบหรือกรอบบริเวณใกล้กับเนื้อหาหรือ Artwork เพราะเส้นกรอบเหล่านี้จะเป็นจุดสังเกตได้ง่ายหากงานพิมพ์มีข้อผิดพลาด หรือถ้าอยากมีกรอบในงานจริงๆ ก็ควรเว้นพื้นที่ให้ห่างจากจุดสังเกตเช่นขอบกระดาษ เป็นต้น

 

การใส่กรอบให้ห่างจากขอบกระดาษช่วยให้การคลาดเคลื่อนเล็กน้อย ไม่เกิดเป็นจุดสังเกต

 

2.ทำการ Proof งาน:  การ Proof งานก่อนพิมพ์จริง เพื่อดูปัญหาการเลื่อนของกรอบหรือขอบ จะช่วยให้เราสามารถทราบปัญหาที่แท้จริงและสามารถปรับแบบที่ไม่ก่อให้เกิดการเลื่อนของชิ้นงานได้

 

3. ปรึกษากับโรงพิมพ์: ในกรณีที่ลูกค้าไม่แน่ใจเรื่องของแบบ Artwork ที่มีขอบหรือกรอบในงาน โดยทั่วไปแล้วโรงพิมพ์จะสามารถช่วยให้คำปรึกษาและแนะนำลูกค้าในเบื้องต้นได้ เพื่อให้ชิ้นงานที่พิมพ์จริงออกมาสมบูรณ์ตาม Artwork ที่ลูกค้าต้องการได้

ช่างพิมพ์ที่เชี่ยวชาญจะสามารถให้คำปรึกษาเรื่องข้อจำกัดต่างๆได้ดีที่สุด ดังนั้นการสรุปแบบกับช่างจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดก่อนเริ่มงานจริง

 

นอกจากเรื่องข้อจำกัดด้านชิ้นงานดีไซน์ที่มีกรอบต่างๆแล้ว เรายังอยากแนะนำเรื่องการ เตรียมไฟล์อย่างไร เพื่อให้ได้งานพิมพ์เร็วที่สุด? เพิ่มอีก 1 เรื่อง เพื่อให้ชิ้นงานพิมพ์ที่ออกมาจากโรงพิมพ์ถูกต้องตรงโจทย์ความต้องการเพื่อนๆที่สุด

 

     
                 
     
logo