เสริมสร้างสมาธิให้เด็กๆด้วยพลังของสื่อสิ่งพิมพ์
หลายคนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ในยุคนี้ คงมีความกังวลไม่มากก็น้อย เพราะลูกๆของเรากำลังถูกห้อมล้อมด้วยสื่อดิจิตัลมากมายหลายแขนง ซึ่งล้วนแล้วแต่เน้นจุดเด่นเป็นเรื่องของความเร็ว และ ความบันเทิงชั่วครู่ ในการใช้งานเป็นหลัก จนทำให้โอกาสที่เด็กๆจะได้มีโอกาสโฟกัสไปกับการพัฒนาเรื่องของสมาธิไม่ต่อเนื่อง ดังนั้นสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคปัจจุบันจึงกำลังกลายเป็นเครื่องมือหลักในการช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้เด็กๆแบบที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะพลังและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ที่อยู่ภายในตัวของพวกเขานั้น ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ สมาธิ เป็นรากฐานสำคัญ ดังนั้นบทความนี้เราจะมาชวนพูดถึงข้อดีของสื่อสิ่งพิมพ์ที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการเสริมสร้างสมาธิกัน
ประสานประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ:
การเรียนรู้ผ่านหน้าจอสื่อดิจิตัล ไม่สามารถสร้างการเชื่อมต่อระหว่างสมองและประสาทสัมผัสได้ดีเท่าการ จด เขียน หรือเปิดพลิกผ่านหนังสือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมุดภาพ สมุดระบายสี หรือ หนังสือนิทาน เพราะเมื่อสมองสั่งการส่งต่อไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย นิ้วมือ แขน และ ตาของเราจะทำงานประสานกันโดยอัตโนมัติ และเมื่อนั้นเองที่กระบวนการรับรู้ทั้งหมดจะเกิดขึ้นเพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้ เช่นถ้าระบายสีเบาไป สีที่เห็นก็จะไม่สม่ำเสมอ ถ้าระบายแรงไปไส้ดินสอก็จะหัก เช่นเดียวกับที่ถ้าเราพลิกหน้าหนังสือ สมองและมือก็ประสานกันทำงาน ให้เราตื่นเต้นไปกับเนื้อเรื่องแต่ก็ต้องระวังที่จะเปิดแรงไปจนหนังสือขาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดหน้าจอจากสื่อดิจิตัลเช่น มือถือ และ Tablet ไม่สามารถมอบประสบการณ์ให้กับเด็กๆได้
การเชื่อมต่อจากสมองไปสู่ปลายนิ้วด้วยทักษะการระบายสี
ส่งเสริมการสื่อสารสองทางที่มีคุณภาพ:
ข้อมูลจากสื่อดิจิตัลมีมากมายและเน้นความรวดเร็ว ทำให้หลายๆครั้ง ผู้ใช้งาน ไม่สามารถมีเวลาและสมาธิทันที่จะตอบโต้กลับให้เกิดกระบวนการสื่อสารไปและกลับ แตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์เช่น สมุด หนังสือ ที่เราสามารถจดและอ่านซ้ำๆเพื่อทบทวนได้โดยไม่มี การแจ้งเตือนจาก application message หรือ สายเรียกเข้าใดๆ เข้ามารบกวนสมาธิของเรา ลองคิดภาพว่า หากเรากำลังตั้งใจวาดแผนที่ใน tablet อยู่ โดยการนึกถึงองค์ประกอบต่างๆที่ต้องวาดลงไป แต่แล้วก็จะมีการแจ้งเตือนเด้งขึ้นมาที่หน้าจอเพื่อให้เราสนใจ เมื่อนั้นเองโฟกัสของเราก็จะพุ่งไปอยู่ตรงที่ข้อความที่รบกวนสมาธิมากกว่า แล้วพอจะกลับมาวาดแผนที่ต่อ เราก็จะต้องกลับมานั่งนึกใหม่เป็นต้น
การสื่อสารสองทางกับทั้งหนังสือและผู้ปกครองช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี
เปลี่ยนจากผู้รับสารเป็นผู้รังสรรค์:
เมื่อใช้เวลากับหน้าจอนานเกินไป ผู้ใช้งานจะกลายมาเป็นผู้รับสารเพียงอย่างเดียว เพราะด้วยเนื้อหาที่เน้นความบันเทิงและหลากหลาย การท่องโลกดิจิตัลจะยิ่งทำให้เด็กๆเพ่งไปกับจอแห่งความบันเทิงจนพวกเขากลายมาเป็นผู้บริโภคเต็มรูปแบบ จนไม่ได้มีโอกาสได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆควบคู่ไปกับมองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นสมัยก่อน เมื่อเราเปิดหนังสือตัวอย่างงาน Hand made แล้วเกิดความอยากทำตามจนต้องไปหาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ หรือหนังสืองานศิลปินที่กระตุ้นให้เราออกไป วาดรูประบายสีตามที่ต่างๆ
เด็กๆกับจินตนาการที่สร้างสรรค์ผ่านสิ่งที่จับต้องได้อย่างงานคราฟท์กระดาษ
ทุกวันนี้แม้การอ่านหนังสือ, วาดเขียน หรือ จดโน้ตต่างๆ ผ่านกระดาษจะดูเป็นทางเลือกรอง แต่มันยังคงคุณค่าของการเป็นเครื่องมือในการสร้างสมาธิ และช่วยลดการเสพย์สื่อดิจิตัลให้กับมนุษย์เราได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับเด็กๆที่กำลังเติบโตมาในยุคที่ยากเหลือเกินที่ครอบครัวจะสามารถปกป้องพวกเขาได้จากเนื้อหา ความบันเทิงต่างๆ ได้แบบ 100% ดังนั้นบทสรุปเรื่องนี้คงหนีไม่พ้น การสร้างพื้นฐานให้เด็กๆด้วยการมีสมาธิเป็นหลักสำคัญด้วยพลังแห่งสื่อสิ่งพิมพ์ยุคเก่าอย่าง หนังสือดีๆสักเล่ม หรือ กระดาษวาดเขียนแผ่นใหญ่ๆที่พร้อมจะให้พวกเขาได้รังสรรค์จินตนาการแบบที่หน้าจอให้ไม่ได้
RPP Team